วัดมาบจันทร์
สถานที่ตั้ง
วัดมาบจันทร์ตั้งอยู่บริเวณเขายายดา ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ติดเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ในพื้นที่กว่าหนึ่งพันไร่ เป็นเขตป่าเขาที่มีความสมบูรณ์อย่างมาก ส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้นหนาแน่นและอุดมสมบูรณ์ นอกจากนั้นยังมีสัตว์ป่านานาชนิด เช่น เสือปลา หมี เก้ง อีเห็น ชะมด นกต่าง ๆ เป็นต้น อยู่ตามป่าเขา มีความสงบร่มรื่น และทัศนียภาพธรรมชาติที่สวยงาม มีนํ้าหลากตามร่องนํ้าธรรมชาติในหน้าฝน มีลมพัดทั้ง 4 ทิศ เหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง
นามเดิม
วัดมาบจันทร์ เมื่อครั้งยังเป็นสำนักสงฆ์มีนามเดิมว่า สำนักสงฆ์สุภัททะบรรพต มีความหมายว่าภูเขาแห่งความเจริญรุ่งเรือง สำหรับการตั้งชื่อของสำนักสงฆ์ ตั้งขึ้นตามฉายานามของท่านพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภัทโท) หรือหลวงปู่ชา ซึ่งท่านเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี โดยวัดมาบจันทร์เป็นสาขาวัดหนองป่าพงที่ 73
จากนิมิตความฝันสู่ศรัทธา
ช่วงออกพรรษา ปีพุทธศักราช 2527 นายสมพล สุวรรณโชติ หรือโยมซ่วนฝันว่า เห็นพระชรารูปหนึ่งเดินอยู่ ในระหว่างทางที่เดินอยู่นั้น ราวกับว่ามีดอกไม้หลากสีนานาพรรณ สวยงามมาก พระชรารูปนั้นก็หันมามองโยมซ่วน เหมือนกับว่าให้เดินตามมา โยมซ่วนก็เดินตามพระชรารูปนั้นไป จากนั้นท่านก็ให้นั่งที่พื้น นั่งขัดสมาธิ ตัวโยมซ่วนเองก็นั่งอยู่ห่างจากท่านประมาณสองเมตร พระชรารูปนั้นก็โยนพระบูชามาให้ เป็นพระสามเหลี่ยมทำด้วยเนื้อกระเบื้อง ๒ องค์ ขนาดเท่านิ้วหัวแม่มือ โยมซ่วนไม่ได้รับในทีแรก พระชรารูปนั้นก็โยนเหรียญให้อีกเหรียญหนึ่ง เป็นเหรียญขนาดสตางค์แดง ลักษณะรูปไข่ พอหยิบขึ้นมาดูก็พบข้อความว่า “หลวงปู่มั่น” และก็มีรูปพระชรารูปนั้นปรากฏอยู่บนเหรียญในลักษณะนั่งขัดสมาธิิ เหมือนกับที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า ซึ่งท่านมีสายตาที่คม มีพลังเปี่ยมไปด้วยอำนาจบารมี แต่ว่าหลวงปู่ไม่ได้พูดอะไรสักคำเดียว โยมสมพลหรือโยมซ่วน เมื่อตื่นขึ้นมาก็ได้เล่าความฝันให้กับนางสังเวียนผู้เป็นภรรยาฟัง
รุ่งขึ้นยามเช้าของวันนั้น ในขณะที่ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก (ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมสถิตในตอนนั้น อีกทั้งเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต องค์บูรพาจารย์ของสายพระป่าธุดงค์กรรมฐาน) กำลังเดินทางกลับวัด ผ่านมาที่บ้านของโยมซ่วน จึงได้แวะเข้ามาเยี่ยม
โยมซ่วนได้เล่านิมิตความฝันให้กับท่านพ่อเฟื่องฟัง เมื่อเล่าจบ ท่านได้ให้คนขับรถเข้าไปที่วัดนำรูปหลวงปู่มั่นมาให้ดู โยมซ่วนได้เกิดความอัศจรรย์ใจว่า “รูปที่โยมเห็นในขณะนี้คือพระสงฆ์ที่มีรูปร่างสันทัด เล็กผอมบาง กระฉับกระเฉง ซึ่งตรงกับรูปที่โยมได้นิมิตเห็น ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยพบเคยเห็นหรือรู้จักหลวงปู่มั่นมาก่อน ถือว่าเป็นบุพนิมิตที่ดี” เป็นเหตุให้โยมซ่วนเกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ในเวลาต่อมา (ไม่นานนัก) ท่านพระอาจารย์อนันต์ และพระเพื่อนอีกรูปหนึ่งก็ได้เดินทางมาปักกลดพำนักเพื่อปลีกวิเวก และฉลองศรัทธาญาติโยมชาวจังหวัดระยองที่ได้นิมนต์มา ในระหว่างนั้นก็ได้ไปบิณฑบาตที่หน้าบ้านของโยมซ่วน (ซึ่งอยู่หน้าปากทางเข้าวัดมาบจันทร์ในปัจจุบัน) และด้วยเหตุที่โยมซ่วนเกิดความอัศจรรย์ในนิมิตของตนที่ได้ฝันถึงหลวงปู่มั่น จึงได้นิมนต์ท่านพระอาจารย์อนันต์มาดูสถานที่วิเวกอันเป็นที่ดินของตนเอง และได้มีจิตศรัทธาจึงได้ถวายที่จำนวนหนึ่งบริเวณเขายายดา ซึ่งอยู่ในเขตหมู่บ้านมาบจันทร์ ตำบลแกลง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เพื่อให้เป็นสำนักสงฆ์สำหรับให้ท่านพระอาจารย์ได้พำนัก พร้อมกันนี้คณะศรัทธาญาติโยมชาวบ้านเพ ชลบุรี ลำลูกกา และกรุงเทพฯ ก็ได้ร่วมกันถวายปัจจัยสำหรับขยายที่ดินสมทบด้วย เหตุการณ์นี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของวัดมาบจันทร์แห่งนี้
ปักกลด ณ ภูเขาแห่งความเจริญ “สุภัททะบรรพต”
หลังจากที่ท่านพระอาจารย์อนันต์ได้มีพรรษากาลล่วงเข้า 8 พรรษาแล้ว ท่านพระอาจารย์พร้อมทั้งพระเถระ 3 รูป สามเณร 1 รูป และอุบาสกอีกก็ 4 คน ก็ได้มาปักกลดบนเขายายดา ซึ่งปัจจุบันเป็นบริเวณสถานที่เดียวกับที่ตั้งของกุฏิหลังแรกที่ท่านพระอาจารย์อนันต์เคยพำนัก พร้อมกับตั้งเป็นสำนักสงฆ์สุภัททะบรรพต ซึ่งหมายถึงภูเขาแห่งความเจริญรุ่งเรืองงอกงาม การตั้งขึ้นด้วยความระลึกถึงพระคุณตามฉายาของพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท)
สภาพวัดสมัยแรก
สมัยแรกที่ท่านพระอาจารย์และคณะสงฆ์มาอยู่ภาวนา สภาพป่ายังเป็นป่ารกชัฏ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด เช่น หมี เสือปลา เก้ง อีเห็น ชะมด เป็นต้น พระภิกษุสามเณรที่มาอยู่ก็อาศัยปักกลดภาวนาตามป่า อยู่แบบธรรมชาติ โดยที่ยังไม่ได้สร้างเสนาสนะหรือถาวรวัตถุอะไรมากนัก ทางเข้าวัดในช่วงนั้นเป็นทางเล็ก ๆ รถวิ่งเข้าออกได้ไม่สะดวก
ปี พ.ศ. 2528 เป็นปีของการจำพรรษาแรก มีพระภิกษุจำพรรษาจำนวน 8 รูป และอีกสามเณร 1 รูป ญาติโยมจากกรุงเทพฯ ยังไม่นิยมมาทำบุญและพักอยู่มากนักเพราะมีมาลาเรียชุกชุม
ถนนหนทางยังเป็นดินลูกรัง หน้าแล้งเต็มไปด้วยฝุ่น ช่วงหน้าฝนบางครั้งมีนํ้าป่าไหลบ่าลงมา ทำให้ใบไม้กิ่งไม้เข้าไปอุดตันท่อระบายน้ำ พระภิกษุสามเณรต้องคอยช่วยกันชำระออกเพื่อป้องกันการชะของขอบถนน
สมัยเริ่มก่อตั้งวัดนั้น ญาติโยมที่มาใส่บาตรหน้าวัดก็ไม่มี พระภิกษุสามเณรจึงต้องอาศัยรับอาหารบิณฑบาตจากชาวสวนที่อยู่บริเวณใกล้เคียง
ศาลาหอฉันหลังแรก เป็นศาลาที่มุงด้วยหญ้าคา ไม่มีฝาผนัง เสาเป็นเสาไม้ยูคาลิปตัส พื้นเทด้วยปูนบาง ๆ บางครั้งเมื่อมีลมพัดมาแรง ๆ ศาลาก็จะโยกโคลง พระและโยมต้องช่วยกันจับต้นเสาเอาไว้ ต่อมาได้สร้างหอฉันใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม ด้านล่างใช้เป็นโรงครัว เมื่อญาติโยมและพระภิกษุสามเณรมีมากขึ้น สภาพศาลาหลังเก่าก็ดูแคบลง จึงได้สร้างศาลาหอฉันหลังใหม่ขึ้นมาทดแทน และถูกใช้งานมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ในขณะที่ศาลาหอฉันหลังเดิมได้ถูกพัฒนาเป็นศาลาพิพิธภัณฑ์ในเวลาต่อมา
ศาลาโพธิญาณ สมัยก่อนถูกใช้เป็นที่ทำสังฆกรรม สวดพระปาติโมกข์ ทำวัตรเช้า-เย็น ด้านล่างใช้เป็นห้องสมุด ห้องคลังสงฆ์ และห้องเก็บยาเวชภัณฑ์
ระบบนํ้า สมัยก่อนใช้ปั๊มดูดมาจากสระนํ้า พระภิกษุสามเณรต้องช่วยกันลากสายยาง พื้นดินเป็นดินแดง ไฟฟ้าก็ยังไม่มี ต้องอาศัยการจุดเทียนเพื่อส่องสว่าง พระภิกษุสามเณรตั้งใจปฏิบัติภาวนากันทุกรูป มีการถือเนสัชชิกทุกวันพระ โดยมีท่านพระอาจารย์อนันต์เป็นผู้นำ
ปัจจุบันนี้ เนื่องจากมีพระภิกษุ สามเณร อุบาสก และอุบาสิกาจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะวัดมีความวิเวกสัปปายะ มีความเหมาะสมในการประพฤติปฏิบัติธรรม มีกิจกรรมปฏิบัติธรรมสำหรับญาติโยมตลอดทั้งปี เสนาสนะจึงจำเป็นต้องสร้างเพิ่มขึ้นโดยลำดับ มีทั้งอุโบสถ ที่พักอุบาสก อุบาสิกา และกุฏิที่อาศัยของพระภิกษุสามเณรซึ่งมีประมาณ 70 กว่าหลัง เป็นกุฏิทรงไทย อยู่ระยะห่างกันในป่า ให้พักได้หลังละหนึ่งรูป เพื่อความวิเวกในการปฏิบัติภาวนา
โอภาสนิมิต
ในปีพ.ศ. 2529 ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันพระขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 ก่อนวันมาฆบูชา 7 วัน วันนั้นเวลาประมาณเที่ยงคืน ขณะที่พระภิกษุสามเณรกำลังเร่งทำความเพียรภาวนากันอยู่ ได้เกิดแสงสว่างเป็นแสงสีเขียวมรกตสว่างทั่วทั้งบริเวณวัด ทำความอัศจรรย์ใจให้เกิดขึ้นกับพระภิกษุสามเณรที่ได้พบเห็นเป็นอย่างมาก
ท่านพระอาจารย์อนันต์ได้กรุณาเมตตาเล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นให้ฟังว่า “พระเณรบำเพ็ญภาวนานั่งสมาธิภาวนากันในวันนั้น ก็ภาวนากันตลอดคืน มีแสงสว่างเกิดขึ้นที่ด้านหน้าศาลาเรานี่แหละ เป็นแสงสีเขียวมรกตกระจายสว่างไสวมาก มีเสียงดังด้วย และด้านบนของท้องฟ้าจะเป็นดวงกลมใหญ่สีเขียว มองจากบ้านเพนี่ก็ตรงเวลากันพอดี เวลา 24.00 น. โยมวัดของเราก็มองเห็นจากชายทะเล เห็นสว่างไสวบนยอดเขา”
และท่านพระอาจารย์อนันต์ได้เปรียบเทียบเหตุการณ์ให้เป็นธรรมะที่น่าสนใจดังนี้ “แสงสว่างนี้คงเป็นจุดมุ่งหมายว่า พระพุทธศาสนาของเราก็คงมาเจริญในสถานที่นี้ ซึ่งในหลายหลาย สถานที่ก็มีปรากฏการณ์เช่นนี้ เช่นวัดครูบาอาจารย์…วัดหนองป่าพงก็มีแสงเกิดขึ้นทั้งสี่ทิศ สว่างไสวรุ่งเรือง อันนี้ก็เป็นนิมิิตหมายภายนอก แต่ว่าการที่จะให้เกิดความสว่างไสวในจิตใจ นักปฏิบัตินั้นก็ต้องพากันปฏิบัติภาวนา หรือว่าอบรมจิตใจ”
ครูบาอาจารย์มาเยี่ยมเยือน
เมื่อประมาณปีพ.ศ. 2530 หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ณ วัดถ้ำผาปล่อง จ.เชียงใหม่ พระเถระที่เป็นลูกศิษย์องค์สำคัญของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้ให้ความเมตตาเดินทางมาโปรดพระภิกษุสามเณรและญาติโยมที่วัด ยังความปีติยินดีให้เกิดแก่พระภิกษุสามเณรและญาติโยมเป็นอย่างมาก
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2541, วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2543, วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2545 และวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2549 พระธรรมวิสุทธิมงคลหรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ได้มีเมตตารับนิมนต์เพื่อรับผ้าป่าในโครงการทอดผ้าป่าช่วยชาติ ณ วัดมาบจันทร์ และได้แสดงธรรมเทศนาโปรดอีกด้วย ทำให้ได้รับความซาบซึ้งใจ และเกิดกำลังใจในการประพฤติปฏิบัติเป็นอย่างมาก
พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ) แห่งวัดอรัญญบรรพต ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ท่านก็ได้เมตตามาที่วัดมาบจันทร์ และได้แสดงธรรมโปรดพระภิกษุสามเณรและญาติโยม เมื่อวันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2542
นอกจากนี้ยังมีพระเถระซึ่งเป็นครูบาอาจารย์องค์สำคัญ ๆ อีกหลายรูป ที่ได้มีเมตตาเดินทางมาเยี่ยมเยือนที่วัด อาทิเช่น หลวงพ่อแบน ธนากโร วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร หลวงพ่ออุตตมะ วัดวังก์วิเวการาม จ.กาญจนบุรี พระวิสุทธิสังวรเถร (หลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธมฺโม) วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี พระครูวิสุทธิสังวร (หลวงพ่อใช่ สุชีโว) วัดปาลิไลยวัน จ.ชลบุรี พระครูสิริภาวนาภิธาน (หลวงพ่อมหาสุพงษ์ ธูตธมฺโม) วัดภูดินแดง จ.ศรีสะเกษ พระเทพปริยัติมงคล (โอภาส โอภาโส) หรือหลวงปู่โอภาส เจ้าอาวาสวัดจองคำ จ.ลำปาง
โดยส่วนมากท่านมักจะกล่าวถึงสถานที่ตั้งวัดว่า “เป็นสถานที่สัปปายะ สงบวิเวก เหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติธรรม และจะเป็นสถานที่ที่มีความเจริญรุ่งเรืองในการปฏิบัติธรรมต่อไปในอนาคต”
ไข้มาลาเรียหมด
ตั้งแต่เริ่มสร้างวัด พระภิกษุเณรที่มาพำนักอยู่ได้เป็นไข้มาลาเรียกันเกือบทุกรูป โดยเป็นรูปละหลาย ๆ ครั้ง ต้องส่งโรงพยาบาลให้ทันท่วงที ท่านพระอาจารย์อนันต์เองก็เป็นไข้มาลาเรียถึง 6 ครั้ง จึงถือได้ว่าผู้ที่มาอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้ต้องเอาชีวิตเข้าแลก เหมือนอย่างที่ท่านพระอาจารย์อนันต์ได้เคยปรารถเรื่องนี้ไว้ว่า “มาลาเรียในสถานที่นี้ชุกชุมมาก ในสาขาวัดหนองป่าพงระยะนั้น ถ้าใครมาปฏิบัติธรรมกันที่นี่ ก็หมายความว่า ได้มอบกายถวายชีวิตไว้ก่อน เพราะว่าเต็มไปด้วยเชื้อไข้มาลาเรีย ซึ่งในสมัยก่อนก็เป็นกันทั้งพระและญาติโยม” แต่ด้วยความศรัทธาไม่ท้อถอย และไม่กลัวความตายของพระภิกษุสามเณรที่มาบุกเบิก จึงอยู่ปฏิบัติภาวนาจนกระทั่งเชื้อมาลาเรียหมดไป และเป็นเขตปลอดเชื้อมาลาเรียเมื่อปีพ.ศ. 2534
เป็นวัดตามกฎหมาย
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2537 ทางกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ส่งหนังสืออนุญาตให้ตั้งเป็นวัดขึ้นในพระพุทธศาสนา มีชื่อเป็นทางการว่า“วัดมาบจันทร์” โดยมีท่านพระอาจารย์อนันต์ อกิญฺจโน เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าคณะจังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2539 ปัจจุบันท่านพระอาจารย์อนันต์มีสมณศักดิ์อยู่ที่พระครูปลัดอนันต์ อกิญฺจโน และมีพระอาจารย์มหาสมชาย สิริธมฺโม เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส