พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)

ปฐมวัย
พระโพธิญาณเถรหรือที่รู้จักกันในนามว่าหลวงปู่ชานั้นท่านเป็นบุคคลภาคอีสานโดยกำเนิด ท่านเกิดที่ตำบลบ้านก่อ (เดิมชื่อบ้านก้นถ้วย) อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๖๑ ตามสุริยคติ หรือวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย ตามจันทรคติ มีบิดามารดาชื่อนายมาและนางพิมพ์ ช่วงโชติ ตามลำดับ ท่านเป็นบุตรคนที่ ๕ จาก ๑๐ คนในบรรดาพี่น้องทั้งหมด

เมื่อท่านอายุได้ ๑๓ ปี ท่านได้รับการบรรพชาพร้อมกับเพื่อน ๆ อีกหลายคนทีวัดบ้านก่อนอก จากนั้นท่านก็ลาสิกขาออกมาเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวในด้านกิจการงานต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ท่านมักจะมีความคิดอยู่เสมอ ๆ ว่าชีวิตที่เป็นฆราวาสนั้นไร้แก่นสาร ดังเช่นที่ท่านเคยเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า เบื่อ ไม่อยากอยู่กับพ่อแม่ คิดไปก็เบื่อ คิดอยากไปคนเดียวไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จะไปทางไหน มันเป็นอยู่อย่างนั้นหลายปีเหมือนกัน ชอบคิดในใจ เบื่อ มันเบื่ออะไรไม่รู้ มันอยากจะไปไหน ๆ คนเดียว อันนี้เป็นอยู่ระยะหนึ่ง ถึงได้มาบวช นี่มันเป็นนิสัย แต่ว่าเราก็ไม่รู้มัน แต่ว่าอาการเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดมา…


อุปสมบท
เมื่อท่านอายุได้ ๒๑ ปีนั้น หลังจากที่ทราบว่าตนเองไม่ต้องเข้ารับราชการทหาร ก็ตัดสินใจที่จะออกบวช จึงได้ลาญาติ ๆ ทางบ้าน และได้เข้ารับการอุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๒ เวลา ๑๓.๕๕ นาฬิกา ที่พัทธสีมาวัดก่อใน ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระครูอินทรสารคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายานามว่า “สุภทฺโท” (แปลว่า ผู้เจริญด้วยดี) เมื่อบวชแล้วท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดก่อนอก ๒ พรรษา ระหว่างนั้นท่านสอบได้นักธรรมชั้นตรี

ออกศึกษาปริยัติธรรม
หลังจากที่ท่านได้นักธรรมชั้นตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่านพิจารณาเล็งเห็นว่าควรจะออกศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเนื่องด้วยในเวลานั้นครูบาอาจารย์ที่จะให้ความรู้ในวัดก่อนอกนั้นมีจำกัด ดังนั้นแล้ว ท่านจึงได้ย้ายไปพำนักยังวัดสวน เพื่อไปเรียนที่สำนักเรียนวัดโพธิ์ตากซึ่งอยู่ไม่ไกล ในสมัยนั้นอยู่ในช่วงสงครามเอเชียบูรพา อาหารการขบฉันจึงอัตคัด ทำให้เป็นอยู่อย่างยากลำบาก และเนื่องจากสถานที่ที่ท่านและเพื่อนสหธรรมิกไปบิณฑบาตนั้นคือหมู่บ้านใกล้ ๆ ซึ่งมีไม่กี่หลังคาเรือน จึงทำให้อาหารไม่เพียงพอกับพระภิกษุสามเณรที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

พระครูอินทรสารคุณ
พระอุปัชฌาย์ของ
พระโพธิญาณเถระ

ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๘๕ ท่านได้เปลี่ยนสถานที่พำนัก มุ่งสู่สำนักเรียนที่วัดบ้านหนองหลัก ซึ่งมีพระครูอรรคธรรมวิจารณ์เป็นเจ้าอาวาส ในขณะนั้นเป็นฤดูแล้งทำให้อาหารการขบฉันฝืดเคือง พระเพื่อนที่มากับท่านรู้สึกไม่ค่อยถูกจริตเท่าใดนัก เลยชวนท่านไปศึกษายังสำนักอื่น เนื่องจากไม่อยากขัดใจเพื่อนที่ชวนท่านมา จึงได้เดินทางไปอยู่กับพระมหาแจ้งที่วัดบ้านเค็งใหญ่ และได้จำพรรษา พร้อมกันนั้นก็สอบนักธรรมชั้นโทได้ในที่นั้น ปีต่อมาจึงได้กลับไปอยู่ที่วัดหนองหลักตามเดิม


ปลงธรรมสังเวช
ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๖ หลังจากที่ศึกษานักธรรมชั้นเอกและบาลีไวยากรณ์จนถึงออกพรรษาแล้วก็ได้รับข่าวสารว่าโยมบิดาท่านเกิดป่วยหนัก ท่านจึงได้รีบรุดกลับไปหาโยมบิดาท่านเพื่อเยี่ยมดูอาการและช่วยในการรักษาพยาบาล อย่างไรก็ดี สังขารร่างกายก็ย่อมมีความเสื่อมเป็นธรรมดา ทำให้ท่านต้องกลับมาช่วยดูแลโยมบิดาซึ่งทำได้เพียง ๑๓ วันเท่านั้นก่อนที่โยมบิดาจะเสียชีวิตลง
เมื่อเสร็จจากงานศพของโยมบิดาแล้ว ท่านก็ได้กลับไปศึกษาต่อที่วัดหนองหลัก แต่ท่านยังหวนนึกถึงภาพที่โยมบิดาได้รับความทุกข์จากอาการป่วย จากการที่ไปเฝ้ารักษาพยาบาลทำให้ท่านเกิดความสลดสังเวชใจขึ้นมา จึงทำให้ในปีนั้นท่านได้เริ่มฝึกการทำสมาธิพร้อมทั้งแปลหนังสือธรรมบทอันเป็นหลักสูตรของเปรียญธรรม ๓ ประโยคในสมัยนั้นไปด้วย

เครื่องอัฐบริขาร

เริ่มชีวิตธุดงค์
ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๘ ท่านได้จำพรรษาที่วัดก่อนอกเพื่อตอบแทนพระคุณครูบาอาจารย์ในด้านการสอนพระปริยัติธรรม และในพรรษานั้นเองท่านสอบได้นักธรรมชั้นเอก จึงตัดสินใจที่จะออกธุดงค์เพื่อศึกษาปฏิบัติในสำนักครูบาอาจารย์ทั้งหลายดังที่ท่านได้ตั้งใจ ดังนั้น ท่านจึงได้จัดเตรียมบริขารสำหรับจาริกธุดงค์และได้เริ่มออกธุดงค์ในช่วงต้นปีถัดมา
ในปีแรกท่านได้ออกธุดงค์พร้อมกับเพื่อนพระภิกษุโดยมุ่งหน้าไปที่วัดเขาวงกต สำนักของหลวงพ่อเภา ซึ่งอยู่จังหวัดลพบุรี แต่เนื่องจากหลวงพ่อท่านได้มรณภาพไปก่อนแล้ว จึงได้พระอาจารย์วรรณที่เป็นลูกศิษย์ดูแลแทน นอกจากนี้ ท่านยังได้พระชาวกัมพูชาที่แตกฉานในด้วยปฏิบัติและปริยัติมาให้คำแนะนำด้วย ในระหว่างที่ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเขาวงกตนั้น ท่านก็ได้ทราบเรื่องราวของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าหนองผือนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ท่านจึงตัดสินใจธุดงค์ไปยังที่นั้นภายหลังจากออกพรรษาที่วัดเขาวงกต


พบหลวงปู่มั่น
หลังจากที่ท่านได้ตัดสินใจออกธุดงค์นั้น ท่านพิจารณาเห็นว่าเพื่อนที่พาธุดงค์มาด้วยกันจากที่วัดบ้านก่อนั้นสนใจในการท่องบ่นตำรา ควรที่จะอนุญาตให้ท่านลงไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ จึงได้แยกทางกับเพื่อนท่านที่วัดเขาวงกต และออกธุดงค์ไปพร้อมกับพระที่วัดเขาวงกตรวมทั้งหมด ๔ รูปด้วยกัน โดยท่านได้มาแวะพักที่วัดบ้านก่อก่อน จากนั้นจึงได้เดินทางต่อไปยังจังหวัดนครพนม โดยในระหว่างทางนั้น คณะธุดงค์ซึ่งมีสามเณร ๑ รูปและอุบาสกอีก ๒ คนขอลากลับไปก่อนด้วยพิจารณาถึงสภาพร่างกายของตนแล้วเห็นว่าไม่ไหว

ในที่สุดท่านกับพระอีก ๒ รูปก็ได้เดินทางไปถึงวัดป่าหนองผือนาใน เมื่อท่านได้ย่างก้าวเข้าไปภายในสำนักของหลวงปู่มั่น ท่านก็เกิดความประทับใจ เนื่องด้วยบรรยากาศอันสงบวิเวกและร่มรื่น ประกอบกับกิริยาท่าทางของพะภิกษุสามเณรที่ดูน่าเลื่อมใส จึงรู้สึกพอใจยิ่งกว่าสำนักใด ๆ ที่เคยสัมผัสมา พอถึงเวลาเย็น ท่านได้กราบหลวงปู่มั่นและฟังธรรมรวมถึงกราบเรียนเรื่องที่สงสัยขัดข้องในใจ ระหว่างที่ท่านได้รับฟังธรรมนั้น ท่านรู้สึกตัวเบา จิตหยั่งลงสู่ความสงบเป็นสมาธิ ความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางได้หายไปหมดสิ้น จนถึงเวลาเที่ยงคืนจึงได้เลิกประชุม หลังจากนั้นท่านได้พักอยู่กับหลวงปู่เป็นเวลาอีก ๒ คืน ได้รับฟังธรรมะและข้อปฏิบัติต่าง ๆ จนเป็นที่หายสงสัยแล้ว จึงได้ออกเดินทางธุดงค์ต่อไปเพราะท่านได้แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนแล้ว

ไม่เป็นผู้ขอ
มีอยู่คราวหนึ่งท่านได้ไปกราบพระอาจารย์กินรี ในคราวนั้นผ้าสบงของท่านที่ใช้มานานแล้วเก่า กล่าวคือผ้าไม่ลื่นจะติดกับหนัง ช่วงที่กวาดลาดวัดวันนั้นท่านนั่งโดยลืมถลกสบงขึ้น ทำให้สบงขาดตรงก้นพอดี จึงไปหาผ้าขาวม้ามานุ่งก่อน และเวลานั้นไม่มีผ้าเปลี่ยน ท่านจึงต้องไปนำผ้าเช็ดเท้ามาซักให้สะอาดก่อนแล้วมาปะ จากนั้นมา ท่านก็จะปะผ้ามาเรื่อย ๆ พระอาจารย์กินรีท่านก็มอง ๆ ดูอยู่ตลอด จนกระทั่งจะเข้าพรรษา มีคนนำผ้ามาถวาย ท่านจึงได้นำมาเย็บเป็นสบงด้วยการเย็บมือโดยมีพวกโยมชีมาช่วยกันเย็บ ท่านได้ใช้ผ้าผืนนั้นมา ๔-๕ ปีก็ไม่ขาด
ในปีนั้นท่านต้องต่อสู้กับกามราคะอีกครั้ง โดยท่านได้เล่าไว้ว่า ครั้งนั้นไม่ว่าท่านจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรืออยู่ในอิริยาบถใด ๆ จะปรากฏนิมิตเป็นภาพอวัยวะเพศหญิงลอยขึ้นมาตลอด จนทำให้การทำความเพียรเป็นไปได้อย่างยากลำบากมาก จนเวลาท่านเดินจงกรม ท่านต้องเข้าไปเดินในป่าทึบช่วงเวลามืดค่ำ เพราะต้องเอาสบงถลกมาพันไว้ที่เอวเพื่อไม่ให้องค์กำเนิดไปเสียดสีกับสบง โดยท่านต้องต่อสู้กับนิมิตนี้อยู่ถึง ๑๐ วัน อารมณ์และความรู้สึกนั้นจึงได้ขาดหายไป


กำเนิดวัดหนองป่าพง
หลังจากที่ท่านได้ฝึกอบรมตนเองให้อยู่ในคุณธรรมพอสมควรแล้ว ท่านก็ได้รับนิมนต์จากโยมมารดาให้กลับไปโปรดญาติโยมที่บ้านก่อ และในวันจันทร์ที่ ๘ มีนาคม ปีพุทธศักราช ๒๔๙๗ ตรงกับวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง ท่านได้จบชีวิตธุดงค์ที่ยาวนานถึง ๘ ปีของท่านลงที่ดงหนองป่าพงหรือก็คือสถานที่ที่ปัจจุบันเป็นวัดหนองป่าพงนั่นเอง ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านท่านประมาณ ๒-๓ กิโลเมตร โดยสถานที่แรกที่ท่านได้ปักกลดลงคือบริเวณต้นมะม่วงใหญ่
หลักธรรมและคำสั่งสอน
หลวงพ่อท่านได้เน้นคติธรรมอยู่ ๒ ข้อหลัก คือ “พึงทำตนให้ตั้งอยู่ในคุณธรรมอันสมควรเสียก่อน จึงค่อยสอนผู้อื่นทีหลัง จึงจักไม่เป็นบัณฑิตทราม” และ “สอนคนด้วยการทำให้ดู ทำเหมือนพูด พูดเหมือนทำ” ทำให้ท่านได้รับความเคารพเลื่อมใสเป็นอันมาก โดยสิ่งที่ท่านเน้นมากคือ การปฏิบัติธรรมจะไม่สำเร็จถ้าไม่รักษาศีลหรือกายวาจาใจให้บริสุทธิ์ และศีล สมาธิ ปัญญาก็คือมรรค ซึ่งทั้ง ๓ อย่างเป็นสิ่งสืบเนื่องกัน อาศัยซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ศีลจะสมบูรณ์ได้ต้องใช้ปัญญาให้การคิดหาเหตุผล ถ้าปัญญากล้าก็จะอบรมสมาธิให้มั่นคงได้ เมื่อสมาธิมั่นคง ศีลจะสมบูรณ์ เมื่อทั้งศีล สมาธิ และปัญญากล้า ก็เป็นมรรคซึ่งเป็นหนทางในการรู้แจ้ง พูดสั้น ๆ ก็คือ ทั้ง ๓ อย่างนั้นคือสิ่งเดียวกันนั่นเอง

ภาพบน เจดีย์บรรจุอัฐิหลวงพ่อชา
ภาพล่าง เจดีย์เล็กบรรจุอัฐิหลวงพ่อชา

ปัฉฉิมวัย
ในช่วงบั้นท้ายชีวิต ท่านได้เริ่มอาพาธ เป็นมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๐ และอาการทรุดลงเรื่อยมา แต่ท่านก็ได้บำเพ็ญประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี ก่อนที่ท่านจะเริ่มอาพาธหนัก ท่านได้ปรารภกับลูกศิษย์ไว้เสมอว่า “ผมไม่มีอะไร ไม่ต้องเป็นห่วง ผมไม่มีอะไร” หลังจากนั้นท่านได้อาพาธจากโรคหลายอย่างจนส่งผลให้ท่านต้องได้รับการผ่าตัดรักษาตัวเมื่อปี ๒๕๒๔ แต่อาการโดยรวมไม่ดีขึ้น ต่อมาอาการได้ทรุดลงจนทำให้ท่านไม่สามารถพูดและเคลื่อนไหวร่างกายได้เอง
และสุดท้ายในช่วงเดือนมกราคม ปีพุทธศักราช ๒๕๓๕ ท่านได้อาพาธหนักจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแต่อาการไม่ดีขึ้น ทางคณะสงฆ์จึงได้นิมนต์ท่านกลับมาที่วัด และในเช้าวันที่ ๑๖ มกราคม ปีพุทธศักราช ๒๕๓๕ เวลา ๐๕.๒๐ นาฬิกา ท่านก็ได้ละสังขารลง เหลือไว้แต่คุณงามความดีและคำสั่งสอนทั้งหลายให้เหล่าศิษยานุศิษย์ได้ถือเป็นแบบอย่างและศึกษาปฏิบัติสืบต่อมาตราบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน


บรรณานุกรม
หนังสือ อุปลมณี พิมพ์ครั้งที่ ๑. ๒๕๔๕
หนังสือ สายธรรมแห่งกัลยาณมิตร พิมพ์ครั้งที่ ๑. ๒๕๕๕
หนังสือ สูจิบัตร งานพระราชทานเพลิงศพ พระโพธิญาณเถระ